6/24/2555

ความหมายของการบริหารการพัฒนา

ในทางสังคมศาสตร์ เป็นธรรมดาที่การแสดงแนวคิดหรือการให้ความหมายของคำใดคำหนึ่ง ย่อมหลากหลายและแตกต่างกันเป็นส่วนใหญ่  ไม่ว่าผู้แสดงแนวคิดหรือผู้ให้ความหมายมีประสบการณ์หรือมีพื้นฐานการศึกษาในสาขาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม  การให้แนวคิดและความหมายของการบริหารการพัฒนาก็มีลักษณะเช่นว่านี้เหมือนกัน
คำว่า  การบริหารการพัฒนา  นั้น  เขียนเป็นภาษา อังกฤษได้ว่า Development Administration หรือ administration of Development เนื่องจากเป็นการให้ความหมายของคำในทางสังคมศาสตร์
จึงควรทำความเข้าใจเรื่องการให้ความหมายของคำหรือถ้อยคำในทางสังคมศาสตร์ก่อน กล่าวคือ 
ศาสตร์มาจากคำว่า “science” ซึ่งมิใช่หมายความว่า วิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังหมายถึง วิชาความรู้ หรือความรู้ที่เป็นระบบที่มีรากฐานมาจากการสังเกต ศึกษา ค้นคว้า และทดลอง ตรงกันข้ามกับ สัญชาติญาณ หรือการรู้โดยความรู้สึกนึกคิด หรือการรู้โดยความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองในใจ (Intuition) คำว่า ศาสตร์ นั้น แบ่งเป็น 2 แขนงใหญ่ ๆ (Branch) คือ สังคมศาสตร์ (Social science) และศาสตร์ธรรมชาติ (Natural science) 
ในทางสังคมศาสตร์ ซึ่งหมายถึง ความรู้ที่เป็นระบบที่เกี่ยวกับสังคม ครอบคลุมศาสตร์ (Science) ด้านศาสนา การศึกษา นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นต้น ศาสตร์เหล่านี้ไม่เป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ได้ทุกหนทุกแห่ง และไม่อาจเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ง่าย เหตุผลสืบเนื่องมาจากการเป็นวิชาความรู้ที่มีลักษณะไม่ตายตัว เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิด การคาดการณ์ คาดคะเน หรือการคาดว่าจะเป็น อีกทั้งอคติของผู้ให้ความหมายความสามารถเข้าไปสอดแทรกอยู่ในความหมายที่ให้
รวมทั้งไม่อาจสัมผัสพิสูจน์และตรวจสอบได้ง่าย  นอกจากนี้ ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เป็นจำนวนมากมีลักษณะที่เรียกว่า ทฤษฎีปทัสถาน (Normative theories) ซึ่งเป็น ทฤษฎีที่สังคมหรือกลุ่มกำหนดเป็นเกณฑ์กลางสำหรับให้สมาชิกอ้างอิงหรือถือปฏิบัติโดยยึดอ้างอิงเหตุผลต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย 
ดังเช่น ทฤษฎีเทวสิทธิ์ ทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์ ตลอดจนทฤษฎีหรือแนวคิดประชาธิปไตย หรือแนวคิดการแบ่งแยกการใช้อำนาจ เป็นต้น ลักษณะของศาสตร์ทางสังคมศาสตร์แขนง (Branch) นี้ ค่อนข้างจะตรงกันข้ามกับศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง คือ ศาสตร์ธรรมชาติ (Natural science) ซึ่งหมายถึง ความรู้ที่เป็นระบบเกี่ยวกับธรรมชาติและโลกทางวัตถุที่ชัดเจนและจับต้องได้ เช่น เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ พฤกษศาสตร์ และธรณีวิทยา ที่มีลักษณะแน่นอน ตายตัว สัมผัสได้ เป็นระบบ ทดสอบและพิสูจน์ได้ง่ายกว่าศาสตร์แขนงแรก รวมทั้งอคติของผู้เกี่ยวข้องเข้าไปสอดแทรกได้ยาก ศาสตร์ธรรมชาตินี้สอดคล้องกับแนวคิดของทฤษฎีที่แน่นอนชัดเจน (Positive theories) ดังเช่น ทฤษฎีเส้นตรงทางเรขาคณิต และทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ เป็นต้น
การให้ความหมายของคำในทางสังคมศาสตร์ไม่อาจให้ความหมายได้อย่างแน่นอน ตายตัว จนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ง่าย  เหตุผลสำคัญสืบเนื่องจากธรรมชาติของลักษณะวิชา  ซึ่งแตกต่างจากศาสตร์ธรรมชาติดังกล่าว รวมทั้งขึ้นอยู่กับความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของผู้ให้ความหมายแต่ละคน  ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ควรมาเสียเวลาถกเถียงกันในเรื่องการให้ความหมายของคำแต่ละคำว่าความหมาย

ในส่วนนี้มุ่งศึกษาแนวคิดและความหมายของการบริหารการพัฒนา ทั้งของต่างประเทศ และของไทยรวมกันไป โดยมีทั้งนักการศึกษาชาวไทยและต่างประเทศ ดังนี้
จอร์จ เอฟ. แก้นท์ [1](George F. Gant) นักวิชาการชาวอเมริกันอธิบายแนวคิดและความหมายของการบริหารการพัฒนา (Development administration) เป็นคนแรก ๆ โดยมีประสบการณ์มาจากการปฏิบัติงานที่ Tennessee Valley Authority (TVA.) ว่า การบริหารการพัฒนาเป็นคำที่ให้ความสำคัญกับหน่วยงานระบบการจัดการ และกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนา พร้อมกันนี้ การบริหารการพัฒนายังเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่กำหนดให้เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ ของการพัฒนาเพื่อทำการเชื่อมโยงและทำให้วัตถุประสงค์ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของชาติประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้การบริหารการพัฒนายังช่วยปรับให้ระบบราชการและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ตอบสนองต่อการพัฒนาอีกด้วย ดังนั้น การบริหารการพัฒนาจึงหมายถึง การบริหารนโยบาย แผนงาน และโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนา

การบริหารการพัฒนาของ Gant แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 
1.  การบริหารงานภายใน (Internal administration) หมายถึงว่าการบริหารงานใด ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีองค์การบริหารงานนั้น ๆ สามารถเป็นกลไกการบริหารที่ดีเสียก่อน จึงจำเป็นจะต้องจัดการภายในองค์การให้ดีให้มีประสิทธิภาพที่สุดซึ่งอาจทำได้ด้วยการจัดองค์การการบริหารงานบุคคลงานคลัง  งานวางแผน  การตัดสินใจ ฯลฯ อันเป็นสาขาย่อยของรัฐประศาสนศาสตร์ให้ดีที่สุด 
2. การบริหารงานภายนอก (External administration) ครอบคลุมถึงเรื่องต่าง ๆ ที่หน่วยงานนั้นติดต่อกับปัจจัยนอกทั้งหมด ทั้งนี้ด้วยการที่ค้นพบว่า ในการบริหารงานนั้น มิใช่แต่จะมุ่งถึงประสิทธิภาพของการบริหารภายในองค์การอย่างเดียว เพราะองค์การมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนให้เป็นผลสำเร็จอย่างดีที่สุด ซึ่งหมายถึงว่า นอกเหนือไปจากการจัดการภายในที่ดีแล้ว ยังต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการหาลู่ทางที่ดีติดต่อกับปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ให้ปัจจัยเหล่านั้นมาร่วมมือกับองค์การของตนเพื่อช่วยให้งานที่ได้รับมอบหมายสัมฤทธิผล ความสามารถในเชิงบริหารขององค์การที่จะบริหารปัจจัยภาย นอกนี้ มีผลเกี่ยวกับความเป็นตายขององค์การส่วนมาก เพราะองค์การบริหารต้องมีส่วนปฏิบัติการติดต่อกับคนหรือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ด้วยกันแทบทั้งนั้น
เออร์วิง สเวิดโลว์ [2](Irving Swerdlow) นักวิชาการชาวอเมริกันอธิบายว่า        การบริหารการพัฒนา หมายถึง การบริหารในประเทศที่ยากจนหรือประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย  ทั้งนี้เพราะการบริหารราชการในประเทศด้วยพัฒนา ย่อมมีความแตกต่างกันกับการบริการราชการในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจพิจารณาและสังเกตเห็นได้จากลักษณะของความแตกต่างกันหลายแง่หลายมุม อาทิ พิจารณาจากลักษณะและแบบแผนของการบริหาร บทบาทของรัฐบาลและบทบาทของข้าราชการ เป็นต้น  ประเทศที่ยากจนทั้งหลายมีลักษณะพิเศษหลายประการซึ่งทำให้รัฐบาลต้องมีบทบาทแตกต่างกัน ลักษณะนี้และบทบาทของรัฐดังกล่าว ทำให้การทำงานของนักบริหารมีลักษณะแตกต่างออกไป ในที่ใดก็ตามที่มีความแตกต่างนั้นอยู่ การบริหารรัฐกิจจะต้องถือได้หรือเรียกได้ว่าเป็นการบริหารการพัฒนา
เมิร์ล เฟนสอด [3](Merle Fainsod) นักวิชาการชาวอเมริกันได้ให้แนวคิดหรือความหมายของการบริหารการพัฒนาว่า โดยปกติ การบริหารการพัฒนาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างกลไกเพื่อการวางแผนให้เกิดความเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจ การระดมและจัดสรรจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดการแผ่ขยายรายได้ของชาติ จะเห็นได้ว่า การบริหารการพัฒนาตามความคิดของ Fainsod  เกี่ยวข้องอย่างมากกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ
พอล มิวโดส์ [4](Paul Meadows) นักวิชาการชาวอเมริกันอธิบายว่า การบริหารการพัฒนาถือได้ว่าเป็นการจัดการทางภาครัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐที่กำหนดไว้ นักบริหารการพัฒนาจึงเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำการเปลี่ยนแปลง
แฮร์รี่ เจ. ฟรายด์แมน [5](Harry J. Friedman) นักวิชาการชาวอเมริกันอีกคนหนึ่งอธิบายว่า การบริหารการพัฒนาประกอบด้วยปัจจัย 2 อย่าง คือ 
1. การปฏิบัติงานตามแผนงาน ต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้เพื่อก่อให้เกิดความทันสมัย (Modernity) 
2. การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ภายในระบบบริหารเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามแผนงานต่าง ๆ ดังกล่าว
จอห์น ดี. มอนโกเมอรี่ [6](John D. Montgomery) นักวิชาการชาวอเมริกัน           กล่าวว่า การบริหารการพัฒนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามแผนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมของรัฐ โดยปกติ จะไม่เกี่ยวข้องกับความพยายามเพิ่มความสามารถทางการเมือง Montgomery มีความคิดว่า การบริหารการพัฒนาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก
เอ็ดเวิร์ด ดับบลิว. ไวด์เนอร์ (Edward W. Weidner) นักวิชาการชาวอเมริกันกล่าวไว้ว่า การบริหารการพัฒนา หมายถึง การปรับมรรควิธี (Means) ของการบริหารให้เข้ากับจุดมุ่งหมายต่าง ๆ ของแผนงานของรัฐบาล ซึ่งก่อนอื่น ต้องทราบถึงความต้องการของรัฐบาลว่ามีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาอย่างไรก่อน แล้วจึงนำการบริหารมาช่วยปฏิบัติการให้สำเร็จผลตามความมุ่งหมายนั้น 

นอกจากนี้ Weidner ได้แบ่งการบริหารการพัฒนา เป็น 2 ส่วน คือ กระบวนการ และความรู้ทางวิชาการ (Area of study) 
1. ส่วนที่เป็นกระบวนการนั้น Weidner มีความเห็นว่าการบริหารการพัฒนาเป็นกระบวนการบริหารงานของรัฐบาลที่นำองค์กรไปสู่การประสบความสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง 
2. ส่วนที่เป็นความรู้ทางวิชาการ Weidner มองว่า การบริหารการพัฒนาเป็นเรื่องของการศึกษาหาความรู้ทางวิชาการ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารรัฐกิจที่มุ่งแสวงหาความรู้ในเรื่องบางเรื่อง และเรื่องดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับกันได้มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่ความศรัทธาของบุคคล กลุ่มบุคคลและประเทศนั้น ๆ
เฟรด ดับบลิว ริกส์ [7](Fred W. Riggs) นักวิชาการชาวอเมริกันมีความเห็นว่าการบริหารการพัฒนามีความหมายที่สำคัญ 2 ประการ คือ การบริหารการพัฒนาหมายถึง 
1.  การบริหารแผนงานพัฒนา (Development programs) ทั้งหลายด้วยวิธีการต่าง ๆ ขององค์การขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยของของรัฐบาล เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนที่กำหนดขึ้นซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการพัฒนา (Developmental objectives) การเสริมสร้างสมรรถนะของการบริหาร
2. การเพิ่มสมรรถนะของการบริหารด้วย ซึ่งหมายความว่า การบริหารการพัฒนาจะสมบูรณ์ได้นั้น จะต้องคำนึงถึงสมรรถนะของการบริหาร คือ ต้องทำให้เข้มแข็งขึ้นด้วย และเมื่อการบริหารงานมีสมรรถนะเพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้การพัฒนาบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้ ความคิดเห็นของ Riggs ดังกล่าวนี้เป็นการให้ความหมายของการบริหารการพัฒนาที่ครอบคลุมเรื่องการพัฒนาการบริหารหรือเพิ่มพูนสมรรถนะของระบบบริหารด้วย
ชู เช็ง สู [8](Shou-Sheng Hsueh) เป็นนักวิชาการที่เกิดในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อธิบายว่า การบริหารการพัฒนามิใช่การบริหารชนิดใหม่ ซึ่งแยกออกมาจากการบริหารรัฐกิจ ในความหมายอย่างกว้าง แต่การบริหารการพัฒนาเป็นการบริหารที่ยึดจุดมุ่งหมาย (Goal-oriented) เป็นหลักและต้องการที่จะเน้นหนักบทบาทเฉพาะอย่างของการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทที่เกี่ยวกับการบริหารเพื่อการพัฒนา (Administration for Development)
ฮัน บีน ลี [9](Hahn-Been Lee) นักวิชาการชาวเกาหลีใต้กล่าวว่า การบริหารการพัฒนาเป็น การเพิ่มสมรรถนะ (Capability) ของระบบบริหารที่จะรับมืออย่างไม่หยุดยั้งกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางในการสร้างความก้าวหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
โจเซ่ เวลโลโซ อบูวา [10](Jose Veloso Abueva) นักวิชาการชาวฟิลิปปินส์ มีข้อสันนิษฐาน (assumption) ว่า การบริหารการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารแผนงานพัฒนาต่างๆ ที่ประสบผลสำเร็จได้นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาการบริหาร (Administrative Development) ดังนั้น การบริหารการพัฒนา จึงเป็นการเพิ่มความสามารถของระบบการเมืองหรือของรัฐของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อดำเนินการตามที่ได้ร่วมกันตัดสินใจไว้แล้ว นอกจากนั้น ยังได้ให้คำจำกัดความของการบริหารการพัฒนาว่า  หมายถึง  การบริหารแผนงานพัฒนาทั้งหลายในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการปรับปรุงแผนงานต่าง ๆ ขององค์การและการบริหารระบบราชการซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชาติ
บี. เอส. คาร์นา [11](B.S. Khanna) นักวิชาการชาวอินเดีย มีความคิดเห็นว่า การบริหารการพัฒนาเป็นการบริหารที่มุ่งดำเนินงานพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งริเริ่มโดยชนชั้นผู้นำและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ
จูเย็น ดู ชวน [12](Nguyen-Duy Xuan) นักวิชาการชาวเวียดนามอธิบายว่า การบริหารการพัฒนา หมายถึง การบริหารบรรดาแผนงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นแผนงานที่กำหนดขึ้นมาเพื่อให้บรรลุวัตถุ ประสงค์ในการสร้างชาติ และเพื่อสนับสนุนให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในด้านเศรษฐกิจ-สังคม การบริหารการพัฒนาจะประสบผลสำเร็จได้ จะต้องดำเนินงาน 2 ประการ คือ

1. จัดให้มีการฝึกอบรมแก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม และ
2. ปรับปรุงองค์การบริหารทั้งหลายที่มีอยู่ และจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติงานตามแผนงานพัฒนาต่าง ๆ

อาษา เมฆสวรรค์ [13]ได้กล่าวถึงความหมายของการบริหารการพัฒนาว่าแบ่งเป็น 2 ทรรศนะ ตามทรรศนะ
ประการแรกนั้น ถือว่า การบริหารการพัฒนา หรือ Development Administration คือ การบริหารงานหรือการบริหารราชการในประเทศด้อยพัฒนาที่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการพัฒนา ดังที่เขียนในภาษาอังกฤษ ว่า administration in poor developed countries which are committed to development 
ประการที่ 2 การบริหารการพัฒนา ได้แก่ การบริหารเพื่อการพัฒนาหรือการบริหารตามโครงการพัฒนาของประเทศ หรือ administration indevelopment or administra tion of a program of national development ตามความเข้าใจอย่างง่าย ๆ ทั่ว ๆ ไป
ปฐม มณีโรจน์ [14]ไม่ได้ให้ความหมายของการบริหารการพัฒนาไว้โดยตรง แต่ได้กล่าวถึงแนวคิดของการบริหารการพัฒนา ว่า แนวคิดนี้ได้สำรวจพิจารณากันมาอย่างค่อนข้างละเอียดแล้วในข้อเขียนทั้งภาษาต่างประเทศและภาษาไทย คำนิยามที่มีผู้ให้ไว้ต่าง ๆ กันก็มีพิสัยครอบคลุมตั้งแต่ที่หมายถึงการบริหารรัฐกิจของประเทศด้วยพัฒนา จนถึงการบริหารขององค์การ โครงการ หรืองานใด ๆ ที่มีลักษณะเกี่ยวข้อง หรือเป็นงานพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีความเจริญในระดับใด โดยปรกติจะเป็นงานที่มีลักษณะบุกเบิก มีการใช้ความคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์สูง และเกี่ยวพันกับปัจจัยหรือตัวแปรนานาชนิดที่มีลักษณะพลวัต และไม่แน่นอนสูงกว่าการบริหารในองค์การธรรมดา 
อนันต์ เกตุวงศ์ [15](2523;27) ให้ความหมายการบริหาร ว่า เป็นการประสานความพยายามของมนุษย์ (อย่างน้อย 2 คน) โดยเขามีความเห็นว่า นักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่า การบริหารการพัฒนามีขอบเขต ครอบคลุมไปถึงการเมืองด้วย และบางคนมีแนวคิดกว้างมากถึงขนาดที่กล่าวว่าการบริหารการพัฒนาหมายถึงการบริหารการเปลี่ยนแปลง 

ดังนั้น ไม่ว่าจะกระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เป็นไปตามนโยบายและแผน ย่อมถือว่าอยู่ในขอบเขตของการบริหารการพัฒนาทั้งสิ้น โดยมีขอบเขตทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการบริหาร ฉะนั้น การบริหารการพัฒนา จึงย่อมหมายถึง การบริหารของงานพัฒนา หรือการนำเอาโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไปดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ รวมทั้งการพัฒนาการบริหาร หรือการทำให้การบริหารมีขีดความสามารถเพิ่มมากขึ้น และอาจเขียนเป็นรูปสมการดังนี้

Administration of Development (การบริหารเพื่อการพัฒนา)
+
Development of Administration (การพัฒนาการบริหาร)
=
Development Administration (การบริหารการพัฒนา)

หรือ  DA = A of D + D of A

อุทัย เลาหวิเชียร [16]เขียนบรรยายถึง  การบริหารการพัฒนา  ว่าหมายถึง หน่วยงานทางราชการ หรือกระบวนการของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การบริหารการพัฒนาจะช่วยให้กลไกต่าง ๆ ของรัฐเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ของงานพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ
การบริหารการพัฒนาตามแนวคิดของ อุทัย เลาหวิเชียร นั้นยังมีความหมายรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการควบการบริหารโดยประชาชนหรือผู้รับบริการด้วย
สมพงศ์ เกษมสิน [17]ในปี พ.ศ. 2514 มีความเห็นว่า การบริหาร หมายถึง การใช้ศาสตร์และศิลป์นำเอาทรัพยากรบริหาร (administrative resource) เช่น คน เงิน วัสดุสิ่งของ และการจัดการ มาประกอบการตามกระบวนการบริหาร (process of administration) เช่น POSDCoRB Model ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
          ไพบูลย์ ช่างเรียน [18]ในปี พ.ศ. 2532 ให้ความหมายการบริหารว่า หมายถึง ระบบที่ประกอบไปด้วยกระบวนการในการนำทรัพยากรทางการบริหารทั้งทางวัตถุและคนมาดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ติน ปรัชญพฤทธิ์ ในปี พ.ศ. 2535 มองการบริหารในลักษณะที่เป็นกระบวนการโดยหมายถึงกระบวนการนำเอาการตัดสินใจ และนโยบายไปปฏิบัติ ส่วนการบริหารรัฐกิจหมายถึงเกี่ยวข้องกับการนำเอานโยบายสาธารณะไปปฏิบัติ [19]
        บุญทัน ดอกไธสง ในปี พ.ศ. 2537 ให้ความหมายว่า การบริหาร คือ การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคล องค์การ หรือประเทศ หรือการจัดการเพื่อผลกำไรของทุกคนในองค์การ[20]
สมพงศ์ เกษมสิน [21](2523:5-6) กล่าวไว้ว่า คำว่า การบริหารนิยมใช้กับการบริหารราชการ หรือการจัดการเกี่ยวกับนโยบาย ซึ่งมีศัพท์บัญญัติ ว่า รัฐประศาสนศาสตร์ (Public administration) และคำว่า การจัดการ (Management) นิยมใช้กับการบริหารธุรกิจเอกชน หรือการดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ สมพงศ์ เกษมสิน ยังให้ความหมายการบริหารไว้ว่า การบริหารมีลักษณะเด่นเป็นสากลอยู่หลายประการ ดังนี้ 
1. การบริหารย่อมมีวัตถุประสงค์
2. การบริหารอาศัยปัจจัยบุคคลเป็นองค์ประกอบ 
3. การบริหารต้องใช้ทรัพยากรการบริหารเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน 
4. การบริหารมีลักษณะการดำเนินการเป็นกระบวนการ 
5. การบริหารเป็นการดำเนินการร่วมกันของกลุ่มบุคคล 
6. การบริหารอาศัยความร่วมมือร่วมใจของบุคคล กล่าวคือ ความร่วมใจ (Collective mind) จะก่อให้เกิดความร่วมมือของกลุ่ม (Group cooperation) อันจะนำไปสู่พลังของกลุ่ม (Group effort) ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์
7. การบริหารมีลักษณะการร่วมมือกันดำเนินการอย่างมีเหตุผล   
8. การบริหารมีลักษณะเป็นการตรวจสอบผลการปฏิบัติงานกับวัตถุประสงค์
9. การบริหารไม่มีตัวตน (Intangible) แต่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์
สมยศ นาวีการ[22](2522 : 6 )อีกลักษณะหนึ่งของการบริหาร ที่เราต้องการชี้ให้เป็นถึงลักษณะที่สำคัญอื่นๆ ของการบริหาร คือ กระบวนการวางแผน การจัดองค์การ การสั่งการ และการควบคุมกำลังความพยายามของสมาชิกขององค์การและใช้ทรัพยากรอื่นๆ เพื่อความสำเร็จในเป้าหมายขององค์การที่กำหนดไว้ 
ณรงค์  นันทวรรธนะ  [23](2536 : 4)  ได้เสนอความหมายของการบริหารว่า  เป็นการดำเนินงาน หรือกระบวนการของบุคคลทั้ง  2  คนขึ้นไปมาร่วมมือ  ร่วมแรง  ร่วมใจกันทำงาน  เพื่อที่จะให้งานนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้   
ศิริพร พงศ์ศรีโรจน์[24](2537:14)  ได้เสนอว่าการบริหาร  คือการดำเนินงานร่วมกันของคณะบุคคล  ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารขององค์การในส่วนที่เกี่ยวกับการวางแผน  การจัดตั้งองค์การ การจัดคนเข้าทำงาน  การสั่งการ  และการควบคุมกิจกรรม ให้ดำเนินไปตามนโยบายจนบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การที่วางไว้อย่างประหยัด  และมีประสิทธิภาพที่สุด   
Peter F. Drucker[25] กล่าวว่า การบริหาร คือ ศิลปะในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกับผู้อื่น การทำงานต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปโดยอาศัยคนอื่นเป็นผู้ทำภายในสภาพองค์การที่กล่าวนั้น ทรัพยากรด้านบุคคลจะเป็นทรัพยากรหลักขององค์การที่เข้ามาร่วมกันทำงานในองค์การ ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นผู้ใช้ทรัพยากรด้านวัตถุอื่น ๆ เครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ เงินทุน รวมทั้งข้อมูลสนเทศต่าง ๆ เพื่อผลิตสินค้าหรือบริการออกจำหน่ายและตอบสนองความพอใจให้กับสังคม
Harold Koontz [26](อ้างถึงใน สมพงศ์ เกษมสิน,2523:6) ให้ความหมายของการจัดการ หมายถึง การดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้โดยอาศัยปัจจัยทั้งหลาย ได้แก่ คน เงิน วัสดุสิ่งของ เป็นอุปกรณ์การจัดการนั้น 
Koontz กล่าวว่า การบริหาร คือ ศิลปะในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกับผู้อื่น จากความหมายที่กล่าวมาอาจสรุปได้ว่าการบริหาร คือ การใช้ศาสตร์และศิลป์ในการเอาทัพยากรการบริหาร (Administrative resources) มาประกอบการตามกระบวนการบริหาร ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ 
การให้คำนิยามของคำว่า การบริหารมีอยู่ต่างๆ กันขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การใช้ความคิดเห็นและความเข้าใจที่แตกต่างกัน ไม่มีคำใดที่เป็นมาตรฐานหรือเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่ละคำก็ให้ความหมายและความเข้าใจแก่ผู้ใช้ในลักษณะเดียวกันเช่น
1.  การบริหาร คือ การใช้ทรัพยากรร่วมกันของทุกคนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
2.  การบริหารเป็นกระบวนการที่ทำให้งานสำเร็จลง โดยการใช้ทรัพยากรบุคคลและวัตถุเข้าด้วยกัน
3.  การบริหาร คือ การวางแผนและการใช้แผนที่วางไว้
4.  การบริหาร คือ การทำให้งานสำเร็จโดยอาศัยการร่วมมือของคนอื่น
5.  การบริหาร คือ พลังที่ดำเนินธุรกิจและรับผิดชอบในความสำเร็จและความล้มเหลวของธุรกิจนั้น
6.  การบริหารเป็นงานที่กำหนดแนวทางหรือการสั่งการให้กลุ่มคนได้ทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การนั้น

ตามที่กล่าวมาข้างต้น “การบริหาร” เป็นสาขาวิชาที่มีการจัดระเบียบให้เป็นระบบของการศึกษา(Systematic study)หมายถึงการศึกษาค้นคว้าหาหลักการ กฎเกณฑ์ และทฤษฎีที่พึงเชื่อถือได้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน โดยลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ว่า “การบริหาร” มีลักษณะเป็น ศาสตร์ (Science) แต่ถ้าเป็นการบริหารงานที่ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์แล้ว การบริหารก็จะมีลักษณะเป็น ศิลป์ (Arts)เมื่อการบริหารมีลักษณะที่อาจพิจารณาได้เป็น 2 นัยดังกล่าวแล้วเช่นนี้ การให้นิยามหรือความหมายของการบริหาร จึงมักมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละทัศนะและแต่ละแนวศึกษา


[1] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[2] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[3] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[4] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[5] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[6] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[7] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[8] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[9] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[10] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[11] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[12] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[13] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[14] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[15] อนันต์ เกตุวงศ์,2537,การบริหารการพัฒนา ,กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
[16] อ้างใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ,
[17] สมพงศ์ เกษมสิน,2514,การบริหาร, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เกษมสุวรรณ.
[18] ไพบูลย์ ช่างเรียน,2532,วัฒนธรรมการบริหาร,กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์. 
[19] ติน ปรัชญพฤทธิ์,2535,ศัพท์รัฐประศาสนศาสตร์,กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[20] บุญทัน ดอกไธสง,2537,การจัดองค์การ,กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
[21] สมพงศ์ เกษมสิน ,2523,การบริหาร,กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิช, 2523 
[22] สมยศ นาวีการ,2522,การบริหาร,กรุงเทพฯ:บรรณกิจ.
[23] ณรงค์  นันทวรรธนะ,2536,การบริหารงานอุตสาหกรรม,กรุงเทพฯ : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์.
[24] ศิริพร  พงศ์ศรีโรจน์.2540. องค์การและการจัดการกรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดเทคนิค19.
[25] อ้างถึงใน สมพงศ์ เกษมสิน,2523:6  
[26] อ้างถึงใน สมพงศ์ เกษมสิน,2523:6  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โปรดระบุชื่อ สกุล และ e-mail